จากภาพด้านขวาคือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สถานที่จัดงานพิธีพระราชทานน้ำสังข์ และวังนางเลิ้งเรือนหอของทั้งสองพระองค์
โศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และยากที่จะลืมที่เกิดขึ้นกับราชสำนักไทย โดยเกิดขึ้นกับหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ภาณุพันธุ์ พระธิดาองค์โตในสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุ์ฯ(สมเด็จวังบูรพา) เมื่อหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์โตเป็นสาวดั่งดรุณีแรกรุ่นนั้นพระองค์ได้เข้าไปถวายตัวเป็นข้าหลวงเด็กอยู่ในพระบรมหาราชวัง เพื่อเรียนรู้วิชาการเรือนและภาษาต่างประเทศตามที่กุลสตรีชั้นสูงพึงมี กล่าวกันว่าในสมัยนั้นหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์นั้นเป็นเจ้าหญิงในพระราชวงศ์ที่มีพระสิริโฉมงดงาม และเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติรูปสมบัติและชาติกำเนิดที่สูงส่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระองค์จะเป็นที่หมายพระทัยของเจ้าชายหลายองค์ในพระราชวงศ์
ไม่นานนัก พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงทูลกับสมเด็จวังบูรพาผู้เป็นพระอนุชา (น้องชาย) ว่า จะขอหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ให้ไปเป็นชายาพระราชโอรสของพระองค์ คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายอาภากร เจ้าชายหนุ่มรูปงามที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาหลักสูตรทหารเรือจากประเทศอังกฤษ ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ก็มิได้ขัดข้องแต่ประการใด ไม่นานวังหลวงอันเป็นสถานที่เงียบสงบก็กลายเป็นสถานที่จัดงานมงคลสมรส สร้างความปลื้มปิติยินดีไปทั่ววังหลวง พระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงพอพระทัยกับความรักของพระราชโอรสเป็นอย่างมาก ถึงกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทั้งสองพระองค์เข้ารับพระราชทานน้ำสังข์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และในตอนค่ำของวันเดียวกันนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าหญิงพรรณราย และเจ้าคุณจอมมารดาแพ ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ออกไปส่งตัวเจ้าสาวที่วังนางเลิ้ง อันเป็นวังที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นเรือนหอ
ทั้งสองพระองค์ทรงครองรักกันเรื่อยมาจนมีพยานรักร่วมกันเป็นพระโอรส 3 พระองค์ แต่แล้วความรักความสุขที่มีร่วมกันก็เริ่มจางไป มีเรื่องต้องขุ่นข้องหมองใจอยู่เป็นนิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่ทางราชการของพระองค์ชายอาภากรที่มากขึ้นทำให้มีเวลาอยู่ร่วมกันน้อยลง และอีกเรื่องที่เห็นจะเป็นชนวนใหญ่ของปัญหาชีวิตคู่นี้ก็คือเรื่องที่พระองค์เจ้าชายอาภากรรับเอาหม่อมเล็กๆเข้ามาอยู่ในวังด้วย ทำให้ปัญหาต่างๆเริ่มสั่งสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่นานหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์จึงตัดสินพระทัยปิดปัญหารักฉากนี้โดยการเสวยยาพิษเพื่อปลงประชนม์ชีพของพระองค์เอง ถึงกับสิ้นชีพิตักษัยบนตำหนักใหญ่วังนางเลิ้งอันเป็นเรือนหอของทั้ง 2 พระองค์ ตรงกับวันที่ 26 กรกฏาคม พ.ศ.2451 เวลา10.50 น. เพียงพระชนม์ 23 ปีเท่านั้น โดยพระองค์ได้เอ่ยคำสุดท้ายไว้ว่า "คนที่เรารัก..ก็ยังมิค่อยได้อยู่ใกล้"
หลังการสิ้นของพระธิดา สมเด็จวังบูรพาทรงโศกเศร้าเสียพระทัยเป็นอย่างมากถึงกับได้แต่งกลอนบทหนึ่งที่สะท้อนหัวอกของคนเป็นพ่อไว้ว่า..
เขาไม่รักเราแล้วหนอ...พ่อจะเลี้ยง
ถึงเวียงวังเราก็มี...ที่อาศัย
เขาไม่รักเราแล้ว...ก็แล้วไป
จะไปรักเขาไย...ให้ป่วยการ"
ขอบคุณข้อมูลจาก :: คลังประวัติศาสตร์ไทย
ที่มา : http://variety.teenee.com/foodforbrain/67320.html