นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม โฆษกเฉพาะกิจการประชาสัมพันธ์ร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติ ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 เปิดเผยว่า ตามที่ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558
สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระที่ 3 และนายกรัฐมนตรีได้นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ 20 ตุลาคม 2558
ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจะได้รับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มีสาระสำคัญในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้น ดังนี้
กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
ปัจจุบัน : มีสิทธิได้รับเฉพาะค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่ และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายา และค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย
ฉบับใหม่เพิ่ม : ค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ แก่ผู้ประกันตน ในกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์
กรณีคลอดบุตร
ปัจจุบัน : มีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้ง เหมาจ่าย ครั้งละ 13,000 บาท + เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน
ฉบับใหม่เพิ่ม : มีสิทธิได้รับไม่จำกัดจำนวนครั้ง
กรณีสงเคราะห์บุตร
ปัจจุบัน : ได้รับสำหรับบุตรอายุ 0 – 6 ปี คราวละ ไม่เกิน 2 คน เหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 400 บาท ต่อคน
ฉบับใหม่เพิ่ม : มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน
กรณีว่างงาน
ปัจจุบัน : ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออก
ฉบับใหม่เพิ่ม : ให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตน กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น กรณีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม
ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือผู้ทุพพลภาพ
ปัจจุบัน : ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีตาย
ฉบับใหม่เพิ่ม : สิทธิประโยชน์กรณีตายแก่ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง/ ผู้ทุพพลภาพ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ
ผู้จงใจให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และตาย
ปัจจุบัน : ไม่ได้รับความคุ้มครอง
ฉบับใหม่เพิ่ม : สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนที่จงใจทำให้ตนเองบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และตาย หรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น
กรณีทุพพลภาพ
ปัจจุบัน : ผู้ประกันตนต้องสูญเสียสมรรถภาพของร่างกายร้อยละ 50 ถึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ
ฉบับใหม่เพิ่ม : ผู้ประกันตนซึ่งสูญเสียสมรรถภาพ ไม่ถึงร้อยละ 50 ของร่างกายมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ
ผู้ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538
ปัจจุบัน : ผู้ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 15 ปี
ฉบับใหม่ : ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิต
กรณีตาย เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย
แก้ไข : ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่สามสิบหกเดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยยี่สิบเดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายเดือน ที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วยสี่
ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อย ยี่สิบเดือนขึ้นไปให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละห้าสิบของค่า จ้างรายเดือนที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วยสิบสอง
ปรับปรุงหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ เพิ่ม
ปัจจุบัน : ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาท (บิดา มารดา บุตร และคู่สมรส) ไม่สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยเงินบำเหน็จชราภาพจะตกเป็นของกองทุน
ฉบับใหม่ : ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วง หน้าได้ โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท หากไม่มีทายาท หรือไม่มีบุคคลที่ทำหนังสือระบุจะให้สิทธิแก่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา
ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน
ปัจจุบัน : ระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี
ฉบับใหม่ : เพิ่มเป็น 2 ปี
ความคุ้มครองลูกจ้างส่วนราชการ
ปัจจุบัน : คุ้มครองเฉพาะลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน
ฉบับใหม่ : ขยาย ความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ
ความคุ้มครองลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ และไปประจำทำงานในต่างประเทศ
ปัจจุบัน : ไม่คุ้มครอง
ฉบับใหม่ : ขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ และไปประจำทำงานในต่างประเทศ
คณะกรรมการตรวจสอบ
ปัจจุบัน : ไม่มี
ฉบับใหม่ : กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใส ได้มาตรฐาน โดยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกันสังคม
คณะกรรมการประกันสังคม
ปัจจุบัน : ไม่มีการกำหนดวิธีการได้มา คุณสมบัติลักษณะต้องห้ามและการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ฉบับใหม่ : กำหนดวิธีการได้มา คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของกรรมการประกันสังคม และต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ที่ปรึกษา
ปัจจุบัน : มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรี
ฉบับใหม่ : มาจากการสรรหาตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ
คณะกรรมการการแพทย์
ปัจจุบัน : ไม่มีการกำหนดวิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม
ฉบับใหม่ : กำหนดวิธีการได้มา โดยให้มาจากการสรรหาตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกันสังคม กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการการแพทย์
การบริหารการลงทุน
ปัจจุบัน : ไม่สามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้ เพราะจะทำให้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ตกเป็นที่ราชพัสดุ
ฉบับใหม่ : กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานประกันสังคมได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ ของกองทุนไม่เป็นที่ราชพัสดุ จะมีผลทำให้สำนักงานประกันสังคมสามารถนำเงินกองทุนไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทน สูงได้
เงินสมทบ
ปัจจุบัน : ไม่สามารถลดอัตราเงินสมทบเฉพาะพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติได้หากจะลดอัตราเงินสมทบ จะต้องประกาศลดอัตราเงินสมทบทั่วประเทศ
ฉบับใหม่ : รัฐบาลสามารถออกประกาศลดหย่อนการออกเงินสมทบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตน และนายจ้างให้ได้รับผ่อนปรนการเก็บเงินสมทบในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติ
ปัจจุบัน : ไม่ได้กำหนดในกฎหมายให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบแต่ปัจจุบันรัฐบาลจัดสรรงบ ประมาณให้เป็นเงินอุดหนุนสำหรับจ่ายเป็นเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40
ฉบับใหม่ : กำหนดให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน
กดถูกใจ (Like) ติดตามข่าวสารจาก อรุณสวัสดิ์